เมื่อผ้าอนามัยกลายเป็นวาระแห่งชาติ
Surasak PRADAPTHOY (Faculté des Lettres, Université Lumière Lyon II) ในขณะที่กระแสโลกกำลังถกเถียงกันไม่สิ้นสุดกับประเด็นที่ว่าผ้าอนามัยควรเป็นสวัสดิการจากรัฐหรือไม่ ปลายปีค.ศ.2020 สก๊อตแลนด์กลายเป็นชาติแรกในโลกที่ไม่รอช้าออกกฎหมายแจกผ้าอนามัยฟรีให้กับผู้หญิงทุกคนหลังจากสภาลงมติเห็นชอบ อังกฤษเองก็ลดภาษีผ้าอนามัยเพื่อให้คนสามารถซื้อได้ในราคาย่อมเยา จากนั้นประเทศอื่นในสหภาพยุโรปก็ค่อยๆ เริ่มตื่นตัวและส่งแรงกระเพื่อมไปทั่วโลก รวมถึงประเทศแห่งเสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพด้วย ผ้าอนามัยเขย่าสังคมฝรั่งเศส สำหรับประเทศฝรั่งเศส กลุ่มต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษย์และสิทธิสตรีหลายกลุ่มออกมารณรงค์เพื่อให้รัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญของผ้าอนามัยซึ่งควรเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีพเฉกเช่นน้ำประปา ในปีค.ศ.2015 กลุ่ม Règles Élémentaires ออกมาระดมทุนและเปิดรับบริจาคผ้าอนามัยเพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับผู้หญิงที่ยากจน นอกจากนั้นผู้เรียกร้องบางกลุ่มก็ต้องการให้รัฐตระหนักถึงความเสมอภาคระหว่างชาย-หญิง ผู้หญิงทุกคนต้องเข้าถึงผ้าอนามัยได้โดยไม่ต้องมีราคาค่างวดอะไร แม้ว่าจะสามารถเบิกค่าใช้จ่ายผ้าอนามัยบางส่วนจากประกันสุขภาพเสริมได้ ผู้หญิงทุกคนก็อยู่ในภาวะจำยอมแบกภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มในแต่ละเดือนอยู่ดี ผลการสำรวจพบว่าค่าใช้จ่ายสำหรับผ้าอนามัยที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ (ไม่รวมค่ายาต่างๆ เมื่อไม่สบายเกี่ยวเนื่องกับประจำเดือน) เฉลี่ยอยู่ที่ 5-10 ยูโรต่อเดือน และตลอดทั้งชีวิตผู้หญิงคนหนึ่งต้องจ่ายค่าผ้าอนามัยมากถึง 1 780 ยูโร สำหรับบางคนราคานี้อาจจะไม่สูงนักแต่ถ้าดูสถิติตามความจริงจะพบว่าผู้หญิงในวัยมีประจำเดือนจำนวน 33 % (1.7 ล้านคน) ไม่มีเงินพอที่จะซื้อผ้าอนามัยได้ และนักเรียนหญิงจำนวน 5 % ออกมายอมรับว่าใช้กระดาษทิชชู่แทนผ้าอนามัย ทุกสิ่งล้วนนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ที่ตามมาเช่น ปัญหาสุขอนามัย ปัญหาการขาดเรียนเพราะไม่มีผ้าอนามัยใช้ในช่วงมีประจำเดือน เป็นต้น ปัจจุบันมีกลุ่มเคลื่อนไหวเรื่องผ้าอนามัยเพื่อผู้หญิงทุกคนมากกว่าสิบกลุ่ม [...]