การเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะในเมืองมาร์เซย
Surasak PRADAPTHOY
(Faculté des Lettres, Université Lumière Lyon II)
ในแต่ละปีมีนักเรียนและนักศึกษาไทยจำนวนไม่น้อยเลือกมาศึกษาต่อที่เมืองมาร์เซย (Marseille) นอกจากเหตุผลเรื่องมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยที่ขึ้นชื่อหลายแห่งแล้ว การปรับตัวใช้ชีวิตในเมืองติดทะเลเมดิเตอร์เรเนียนแห่งนี้ก็ไม่เป็นอุปสรรคมากเท่ากับเมืองอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นสภาพภูมิอากาศที่ไม่หนาวจนเกินไปในฤดูหนาว เครื่องเทศคลุกเคล้าอาหารที่ถูกปากคนไทยหรือการคมนาคมภายในเมืองที่มีให้เลือกใช้หลากหลายรูปแบบ แม้ว่ามาร์เซยจะมีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับสองรองจากกรุงปารีส แต่การเดินทางภายในเมืองถือว่าไม่ซับซ้อนเท่า การสร้างและการออกแบบระบบขนส่งสาธารณะในเมืองมาร์เซย ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการอย่างแท้จริง เรียกได้ว่าภาษีที่รัฐจัดเก็บไปคืนมาเป็นสวัสดิการพื้นฐานของประชาชนอย่างคุ้มค่า นักเรียนและนักศึกษาชาวต่างชาติก็พลอยได้อานิสงค์ไปด้วย ในบทความนี้จะกล่าวถึงข้อมูลเบื้องต้นที่จำเป็นสำหรับการเดินทางภายในเมืองมาร์เซย ตั้งแต่การแบ่งโซนการให้บริการขนส่งสาธารณะ การเลือกใช้บริการขนส่งประเภทต่างๆ ตลอดจนการเลือกใช้ตั๋วโดยสารที่เหมาะกับนักเรียนและนักศึกษา
การแบ่งโซนการให้บริการขนส่งสาธารณะ
ก่อนทำความเข้าใจการแบ่งโซน เราต้องรู้จักทำเลที่ตั้งและการบริหารจัดการของเมืองมาร์เซยก่อน มาร์เซยเป็นเมืองท่าสำคัญของจังหวัด Bouches-des-Rhône ในแคว้น Provence-Alpes-Côte d’Azur ตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศฝรั่งเศส จังหวัดนี้ประกอบไปด้วย 119 เมือง (commune) ซึ่งมีเมืองหลัก (préfecture) 4 แห่ง ได้แก่ Aix-en-Provence, Arles, Istres และ Marseille ภายในเมืองมาร์เซยมีการแบ่งเขต (arrondissement) ออกเป็น 13 เขต องค์กรขนส่งสาธารณะของเมืองมาร์เซยมีชื่อเดิมว่า La Régie autonome des transports de la ville de Marseille ซึ่งในตอนนั้นจะให้บริการเฉพาะในเมืองมาร์เซยเป็นหลัก แต่เมื่อประชากรเพิ่มขึ้น (ปัจจุบันมาร์เซยมีประชากรมากเป็นอันดับ 3 ของประเทศ) และเขตเมืองขยาย จึงมีการเพิ่มการบริการขนส่งสาธารณะออกไปยังเมืองใกล้เคียง องค์กรขนส่งสาธารณะของเมืองมาร์เซยจึงเปลี่ยนชื่อเป็น Régie des Transports Métropolitains (RTM) อย่างไรก็ตาม RTM ก็ได้ทำสัญญากับองค์กรขนส่งสาธารณะอื่นๆ อาทิ บริษัทเดินรถระหว่างเมือง Cartreize และ Ciotabus ตั้งแต่ปีค.ศ. 2016 เป็นต้นมา มีการขยายการให้บริการเขตรอบนอกของเมือง Marseille และ Aix-en-Provence ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 3,148 ตารางกิโลเมตร จึงกลายเป็นมหานคร Aix-Marseille-Provence
รูปที่ 1 โลโก้ของมหานคร Aix-Marseille-Provence
การแบ่งโซนการให้บริการขนส่งสาธารณะในมหานคร Aix-Marseille-Provence คล้ายกับการแบ่งโซนรถไฟฟ้าในในกรุงปารีส หากแต่ที่เมืองมาร์เซยใช้สีในการแบ่งและสามารถใช้ตั๋วใบเดียวกับระบบขนส่งทุกประเภทภายในโซนสีเดียวกัน ทั้งนี้ก็เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการ ผู้ใช้บริการจะไม่รู้สึกติดขัดเมื่อเดินทางต่อหลายทอด เพราะใช้ตั๋วเดินทางเพียงใบเดียว โซนต่างๆ ที่แบ่งจะสอดคล้องกับราคาค่าโดยสาร เริ่มตั้งแต่เมืองชั้นในสุดของเมืองมาร์เซยจะถูกจัดเป็นโซนสีฟ้า (Zone CIEL) ประกอบไปด้วยการขนส่งสาธารณะหลักๆ ของ RTM เช่น รถประจำทาง รถไฟใต้ดิน รถรางเบา เรือโดยสาร เรือข้ามฟาก เป็นต้น จากนั้นเขยิบออกจากโซนชั้นในสุดก็จะเป็นโซนสีน้ำเงิน (Zone BLEUE) ซึ่งเริ่มเป็นเขตส่วนนอกเมืองมาร์เซย นั่นหมายความว่าผู้ที่ถือตั๋วโซนสีน้ำเงินก็มีสิทธิ์ใช้ระบบขนส่งของโซนสีฟ้าที่อยู่ชั้นในสุด ถัดไปเป็นโซนสีเหลือง (Zone JAUNE) ผู้ถือตั๋วชนิดนี้ได้รับสิทธิเดินทางในโซนสีฟ้าและสีน้ำเงินร่วมด้วย รวมถึงสามารถใช้บริการพิเศษ เช่น รถประจำทางไปสนามบิน รถไฟภายในแคว้น (TER) เป็นต้น สุดท้ายคือโซนโดยรอบ (Zone INTEGRAL) ผู้ถือตั๋วโซนนี้สามารถเดินทางได้ทั่วทุกโซน การทำความเข้าใจการแบ่งโซนเหล่านี้จะช่วยให้เราเลือกซื้อตั๋วได้เหมาะสมตามความจำเป็น
รูปที่ 2 การแบ่งโซนการให้บริการขนส่งสาธารณะภายในมหานคร Aix-Marseille-Provence
การขนส่งสาธารณะประเภทต่างๆ
หลักๆ แล้วนักเรียน นักศึกษาที่พักอยู่ในเมืองมาร์เซยน่าจะต้องเดินทางภายในโซนสีฟ้าและสีน้ำเงินบ่อยที่สุด ดังนั้นจึงควรทำความรู้จักการขนส่งสาธารณะในเมืองมาร์เซยที่มีทั้งทางบกและทางน้ำ แม้ว่าจะมีการขนส่งสาธารณะหลายประเภทมาร์เซยก็ยังคงรั้งอันดับ 2 ของเมืองที่มีรถติดมากที่สุดในประเทศฝรั่งเศสรองจากกรุงปารีสในปี ค.ศ. 2019 การขนส่งสาธารณะมีดังต่อไปนี้
- รถประจำทาง (bus)
รถประจำทางทั่วเมืองมาร์เซยมีมากเกือบ 100 สายและมีบริการรถประจำทางรอบกลางคืนด้วย นอกจากนั้นยังมีรถประจำทางไปเมืองละแวกใกล้เคียง ได้แก่ Les Bus de la Marcouline, Les Bus de la Côte Bleue, Les Bus des Collines, Les Bus des cigales, Le réseau Ciotabus และ Les Bus de l’Etang
- รถไฟใต้ดิน (métro)
ปัจจุบันมาร์เซยมีรถไฟใต้ดิน 2 สาย คือ M1 และ M2 บริการรวมทั้งหมด 29 สถานี ตามแผนจะมีการเพิ่มส่วนขยายสาย M2 หากใช้ตั๋วประเภทเดินทางเที่ยวเดียว จะสามารถผ่านเข้ารถไฟใต้ดินได้แค่ครั้งเดียวเท่านั้น
- รถรางเบา (tramway)
มาร์เซยมีบริการรถรางเบาจำนวน 3 สาย สายที่ 1 และ 2 เริ่มเปิดใช้ครั้งแรกในปีค.ศ. 2007 และสายที่ 3 ในปีค.ศ. 2015 ปัจจุบันรองรับผู้โดยสารกว่า 1 แสนคนต่อวัน
รูปที่ 3 รถรางเบาในเมืองมาร์เซย
- เรือโดยสาร (navette)
เรือโดยสารเป็นการเดินทางอีกวิธีหนึ่งในเมืองมาร์เซยที่หลีกหนีความวุ่นวายบนท้องถนน เรือโดยสารให้บริการ 4 สถานี คือ Les Goudes <—> Pointe Rouge <—> Vieux Port <—> L’Estaque ใช้เวลา 35 นาทีโดยประมาณตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางรวม 10 กิโลเมตร เรือรอบสุดท้ายจะหมดก่อน 18.00 น. ราคาตั๋วเรือโดยสารอยู่ระหว่าง 5-8 ยูโร ขึ้นอยู่กับระยะทาง ราคานี้เป็นการโดยสารเรือเที่ยวเดียวและสามารถต่อรถประจำทาง รถไฟใต้ดิน และรถรางเบาภายใน 1.30 ชั่วโมง
รูปที่ 4 ตั๋วเรือโดยสาร
- เรือข้ามฟาก (Ferry-boat)
เรือข้ามฟากของเมืองมาร์เซยถือกำเนิดมายาวนานกว่า 100 ปี เรียกได้ว่าเป็นวิธีการคมนาคมที่เก่าแก่ที่สุดของชาวเมืองมาร์เซย แม้แต่นักเขียนชื่อดังอย่าง Marcel Pagnol ก็บรรยายฉากสำคัญของเรือข้ามฟากนี้ในบทละครเรื่อง Marius อีกด้วย ปัจจุบันเรือข้ามฟาก Le Ferry-boat ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าและแสงอาทิตย์ ให้บริการตั้งแต่ 07.00 น. – 20.30 น. ระหว่างท่าเรือ la Place aux Huiles และ la Mairie principale de Marseille เท่านั้น สนนราคาอยู่ที่ 0.50 ยูโรต่อเที่ยว
รูปที่ 5 แผนภาพแสดงเส้นทางการเดินเรือ le Ferry-boat
ราคาค่าโดยสาร
รูปที่ 6 ตั๋วโดยสารราคา 1.70 ยูโร
ราคาตั๋วโดยสารปกติจะอยู่ที่ 1.70 ยูโร ถ้าเป็นการออกตั๋วครั้งแรกจะต้องจ่ายค่าบัตรเพิ่ม 0.10 ยูโร ทั้งนี้สามารถใช้บัตรใบเดียวกันนี้เติมเที่ยวเดินทางได้อีก 10 ครั้ง ดังที่ทราบกันดีแล้วว่าตั๋วใบเดียวสามารถใช้เดินทางต่อรถประจำทาง รถไฟใต้ดิน และรถรางเบาภายในเวลา 1 ชั่วโมงหลังจากที่เปิดใช้บัตร หากเราเดินทางเป็นประจำ การซื้อตั๋วโดยสารเป็นครั้งๆ อาจจะไม่คุ้ม และยังต้องคอยกังวลเวลาจำกัดในการใช้ตั๋ว การสมัครสมาชิกจึงเป็นทางออกที่เหมาะสมสำหรับผู้ที่พักอยู่ในเมืองมาร์เซยระยะยาว การสมัครมีสองวิธีคือ
- La recharge d’euro เป็นการเติมเงินเข้าบัตรตามความต้องการของผู้ใช้บริการ การเดินทางแต่ละครั้งจะถูกหักไปตามสัดส่วนที่ถูกกว่าราคาปกติ เช่น จะได้ส่วนลดเหลือเที่ยวละ 1.40 ยูโร แต่วิธีนี้ก็ถือว่ายังไม่คุ้มกับผู้ที่ต้องการเดินทางบ่อยๆ
- L’abonnement เป็นวิธีการสมัครที่สอดคล้องกับสถานะและความต้องการของผู้ใช้ สถานะผู้ใช้จะเกี่ยวกับอายุเป็นหลัก ถ้าเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษา-มัธยมศึกษา เงื่อนไขอายุจะอยู่ระหว่าง 11-16 ปี สถานะนักเรียนอายุ 17-25 ปี หลังจากอายุ 25 ปี ถือว่าเป็นประเภทบุคคลทั่วไป อย่างไรก็ตาม ยังมีส่วนลดค่าโดยสารให้กับครอบครัวที่มีบุตรจำนวนมาก คนว่างงาน คนพิการ คนชรา หรือ ผู้มีรายได้น้อย นอกจากสถานะผู้ใช้บริการแล้ว ตั๋วประเภทรายวัน รายสัปดาห์ รายปี ก็จะมีส่วนลดมากน้อยลดหลั่นกันไป และยังมีส่วนลดสำหรับการเดินทางผสมแบบระบุ เช่น เดินทางไป-กลับสนามบิน + การใช้บริการใน Zone CIEL ซึ่งมีรายละเอียดเยอะมากจนไม่สามารถกล่าวในที่นี้ได้หมด อย่างไรก็ตาม ขอแสดงตารางสรุปส่วนลดราคาค่าโดยสำหรับนักเรียน นักศึกษา ดังนี้สำหรับนักเรียน นักศึกษาทั่วไป นักศึกษาฝึกงาน อายุไม่เกิน 25 ปี
หมายเหตุ RTM ไม่เสนอส่วนลดค่าโดยสารในโซนโดยทั่ว (Zone INTEGRAL) สำหรับนักเรียน นักศึกษาทั่วไป นักศึกษาฝึกงาน อายุไม่เกิน 25 ปี
สำหรับนักเรียน นักศึกษาที่อายุมากกว่า 25 ปี และบุคคลทั่วไป
หมายเหตุ RTM ไม่เสนอส่วนลดค่าโดยสารในโซนสีเหลือง (Zone JAUNE) สำหรับสำหรับนักเรียน นักศึกษาที่อายุมากกว่า 25 ปี และบุคคลทั่วไป
เราจะเห็นได้ว่าเมืองใหญ่แต่ละเมืองในประเทศฝรั่งเศสมีการกำหนดเงื่อนไขการใช้ตั๋วโดยสารที่แตกต่างกันไป เราจำเป็นจะต้องศึกษาข้อมูลให้ถี่ถ้วนเพื่อประโยชน์สูงสุด หากผู้ที่อ่านบทความนี้ไม่ใช่ผู้ที่พำนักในเมืองมาร์เซย อย่างน้อยก็จะได้เห็นภาพว่าการเดินทางภายในเมืองเป็นเช่นไร ดังนั้นการเดินทางมาเยือนถิ่นกำเนิดสโมสรฟุตบอลชื่อดัง Olympique de Marseille (OM) อุทยานแห่งชาติ Calanques de Marseille มหาวิหาร Notre-Dame de la Garde หรือ Château d’If ก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป
ข้อมูลอ้างอิง
https://www.marseille-tourisme.com/
https://www.lebonbon.fr/lyon/news/marseille-est-la-2e-ville-la-plus-embouteillee-de-france/
http://entreprendre-wa.com/listings/la-metropole-aix-marseille-provence/