การเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะภายในกรุงปารีส
นายยุทธนา ฤทธิ์ทวี
(Doctoral School of Oncology, Université Paris-Saclay, Paris)
หนึ่งในเรื่องที่ชวนปวดหัวและเข้าใจได้ยากในช่วงแรกที่มาศึกษาต่อที่กรุงปารีสก็คงหนีไม่พ้นเรื่องระบบการขนส่งสาธารณะภายในเมือง แม้ว่าปารีสจะเป็นหนึ่งในมหานครที่มีระบบขนส่งสาธารณะที่ดีที่สุดในโลก มีวิธีในการเดินทางที่หลากหลาย อาทิ เมโทร 16 สาย (รวมสาย 3bis และ สาย 7bis อีก 2 สาย) รถไฟ RER 5 สาย รถราง 8 สาย และรถเมล์ 315 เส้นทาง พร้อมกับป้ายรถเมล์กว่า 12,000 จุดให้บริการครอบคลุมเกือบทุกเส้นทางภายในเมือง อย่างไรก็ดีบ่อยครั้งที่ผู้มาใหม่มักจะสับสนกับระบบการนับโซน เงื่อนไขการใช้ตั๋ว และวิธีการสมัครตั๋วประเภทต่าง ๆ บทความนี้จะมาช่วยสรุปเพื่อทำความเข้าใจเรื่องซับซ้อนเหล่านี้
- การนับเขตและโซนภายในปารีส
กรุงปารีสประกอบไปด้วย 20 เขต (arrondissements) ทั้ง 20 เขตมีการเรียงลำดับต่อกันจากเขตเมืองชั้นในสู่ชั้นนอก และนับตัวเลขต่อกันลักษณะแบบก้นหอยวนตามเข็มนาฬิกา เราสามารถสังเกตเขตที่เราอาศัยอยู่ได้ด้วยการดูที่ป้ายบอกชื่อถนนบริเวณหัวมุมทางแยกต่างๆ จะแสดงตัวเลขเขตที่เราอาศัยอยู่ เช่น 5ème หมายถึง เขตที่ 5 นอกจากนี้ยังสามารถสังเกตได้จากเลขท้ายของรหัสไปรษณีย์ของกรุงปารีสที่ขึ้นต้นด้วย 75 ซึ่งตามด้วย 0XX เช่น 75005 หมายถึงเขต 5 หรือ 75014 คือเขต 14 เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ทั้ง 20 เขตของกรุงปารีสจัดอยู่ภายในโซน 1 จากทั้งหมด 5 โซน ของแคว้น Île-de-France
การเรียงลำดับทั้ง 20 เขต ของกรุงปารีสซึ่งทั้งหมดอยู่ในโซน 1
นอกจากโซน 1 ที่เป็นใจกลางเมืองปารีสแล้ว เราสามารถเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะไปสู่เมืองปริมณฑลภายในแคว้น Île-de-France ซึ่งมีการกำหนดโซนออกไปจากศูนย์กลางปารีส โดยแบ่งเป็น โซน 2 ถึง 5 ทำให้ขณะที่เราเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะต้องคำนึงถึงการเดินทางข้ามโซนไว้ด้วย เพราะค่าโดยสารแตกต่างกัน
รูปภาพแสดงโซน 1-5 ของแคว้น Île-de-France อย่างคร่าวๆ (อ้างอิง https://www.ratp.fr/visite-paris/francais/forfait-paris-visite)
- ตั๋วโดยสารเที่ยวเดียว
ตั๋วประเภท Ticket t+ คือตั๋วโดยสารภายในกรุงปารีสประเภทเที่ยวเดียว มีลักษณะเป็นตั๋วกระดาษสีขาว สนนราคาอยู่ที่ใบละ 1.90 ยูโร (ราคาปัจจุบันในปีพ.ศ. 2563) นอกจากนั้นเราสามารถซื้อตั๋วเป็นชุด 10 ใบ (Carnet) ในราคาเฉลี่ยที่ถูกกว่าใบละ 1.90 ยูโร ตั๋ว Ticket t+ ใช้โดยสารได้ในทุกระบบขนส่งสาธารณะ ดังนี้
*หมายเหตุ: ตั๋วโดยสาร Ticket t+ ราคา 1.9 ยูโร ใช้เพื่อเดินทางภายในโซน 1 เท่านั้น หากเราต้องการเดินทางระหว่าใจกลางเมืองสู่สนามบิน Charles de Gaulle หรือ Disneyland ในโซน 5 พระราชวังแวร์ซายในโซน 4 เราสามารถซื้อตั๋วเที่ยวเดียวเพื่อเดินทางข้ามโซนได้ตามปกติ แต่จะมีราคาสูงกว่าตั๋ว ticket T+ แบบปกติ ดังตัวอย่างในตาราง
เงื่อนไขในการใช้ตั๋วประเภท Ticket T+
แม้ว่าจะเป็นตั๋วโดยสารสำหรับเดินทางเที่ยวเดียว แต่เราสามารถใช้ตั๋วใบเดิมซ้ำได้ในกรณีที่ยังเดินทางต่อเนื่องภายในครั้งเดียวกัน โดยมีกฎการใช้ตั๋วโดยสารชนิดนี้ดังต่อไปนี้
- ตั๋วหนึ่งใบสามารถใช้ได้ภายใน 1 ชั่วโมง 30 นาทีนับตั้งแต่การใช้การครั้งแรกเมื่อผ่านจากเครื่องตรวจตั๋วเข้าสู่สถานี
- การโดยสารต่อเนื่องที่สามารถใช้ตั๋วใบเดิมได้จะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขใดเงื่อนไขหนึ่ง ดังนี้
- การเปลี่ยนจากเมโทรสายหนึ่งไปยังเมโทรอีกสายหนึ่งโดยไม่ออกจากสถานี
- การเปลี่ยนจากเมโทรไปรถไฟ RER อีกสายหนึ่งโดยไม่ออกจากสถานี
- การเปลี่ยนจากรถเมล์สายหนึ่งไปต่อรถเมล์อีกสายหนึ่ง
- การเปลี่ยนจากรถรางไปต่อรถเมล์ที่มีเส้นทางตัดผ่านเส้นทางรถรางก่อนหน้า
- การเปลี่ยนจากรถเมล์กลางคืนสายหนึ่งไปต่อรถเมล์กลางคืนอีกสายหนึ่ง
ข้อควรระวัง1: ผู้โดยสารไม่สามารถใช้ตั๋วโดยสารใบเดิมที่ใช้ขึ้นเมโทรเพื่อไปขึ้นรถเมล์ต่อได้ เนื่องจากไม่เข้าเงื่อนไขที่อธิบายไปก่อนหน้า
ข้อควรระวัง2: ตั๋วโดยสารเที่ยวเดียวที่ซื้อกับคนขับบนรถเมล์ราคา 2 ยูโร และไม่สามารถใช้ได้กับการโดยสารประเภทอื่นรวมไปถึงไม่สามารถใช้ในการต่อรถแบบในเงื่อนไขปกติได้
ข้อควรระวัง3: ตั๋วแบบกระดาษมักตามมาด้วยปัญหากวนใจ อาทิ การเสื่อมของแถบแม่เหล็กเมื่อเราเก็บตั๋วไว้ใกล้โทรศัพท์มือถือ หรือ ขาดยุ่ยเมื่อเปียกน้ำ ผู้โดยสารควรระมัดระวังในการเก็บรักษาตั๋วประเภทนี้
(อ้างอิง https://www.leparisien.fr/info-paris-ile-de-france-oise/transports/ile-de-france-cette-carte-remplacera-vos-tickets-de-metro-des-le-12-juin-17-05-2019-8074140.php)
ตั๋วโดยสารเที่ยวเดียวแบบกระดาษ Ticket T+ ที่ใช้งานคู่กับการโดยสารสาธารณะของกรุงปารีสมายาวนานมากกว่าหนึ่งร้อยปี กำลังจะลดลงและถูกทดแทนด้วยบัตรโดยสารแบบพลาสติกแข็งที่เรียกว่า Navigo Easy โดยที่เงื่อนไขการใช้งานและราคายังคงเดิมเช่นเดียวกับตั๋ว Ticket T+ เดิมทุกประการ แต่เราต้องซื้อบัตรเปล่าราคา 2 ยูโร เพื่อเติมเที่ยวโดยสาร ข้อดีคือสามารถเก็บบัตรนี้ไว้เติมเที่ยวโดยสารได้ต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งเป็นการลดปริมาณขยะจากตั๋วกระดาษ
- ตั๋วโดยสารรายวัน Paris visite pass
หากเรามีความจำเป็นจะต้องเดินทางจำนวนหลายครั้งในระยะเวลาไม่กี่วัน การใช้ตั๋วประเภท Ticket T+ หลายๆ ใบอาจจะไม่คุ้ม ตั๋ว Paris visite pass จึงเป็นอีกทางเลือกที่คุ้มค่ากว่า ตั๋วประเภทนี้สามารถใช้ซ้ำได้ไม่จำกัดจำนวนครั้งภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยมีให้เลือกซื้อตามจำนวนวันและโซนที่เดินทาง ราคาปรากฏตามตารางดังนี้
ตั๋ว Paris visite pass ประเภทโซน 1 ถึง 5 สามารถใช้เดินทางไป-กลับสนามบิน CDG ด้วยรถไฟ RER สาย B และเดินทางไปยังสนามบิน Orly ด้วยรถไฟ OrlyVal
ผู้ที่ถือตั๋ว Paris visite pass ยังได้รับสิทธิพิเศษตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆภายในปารีสอีกด้วย อาทิ
- ส่วนลด 25% เมื่อใช้บริการล่องเรือนำเที่ยวแม่น้ำแซน (Bateaux Parisiens)
- ส่วนลด 25% ค่าเข้าชมประตูชัย (Arc de Triomphe)
- ส่วนลด 20% ค่าเข้าชม Conciergerie
- ส่วนลด 2.50 ยูโร ค่าเข้าชมพิพิธภัณฑ์ Picasso
- ส่วนลด 20% ค่าเข้าชมพิพิธภัณฑ์ทหารและ Invalides
- ส่วนลด 2 ยูโร ค่าเข้าชมพระราชวังฟงแตนโบล (Chateau de Fontainebleau)
- ส่วนลด 10% เมื่อช็อปปิ้งที่ห้าง Galeries Lafayette และได้รับกระเป๋าฟรี 1 ใบ เมื่อซื้อของครบ 40 ยูโร
- ส่วนลด 30% ค่าเข้าชมวิวจากตึก Montparnasse
อย่างไรก็ตามสิทธิพิเศษเหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา รายการส่วนลดด้านบนเป็นเพียงตัวอย่างที่แสดงอัปเดตในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2563
ข้อควรระวัง1: กติกาของตั๋ว Paris visite pass นั้นนับระยะเวลาการใช้งานด้วยจำนวนวัน ไม่ใช่จำนวนชั่วโมง ดังนั้นหากเราเริ่มต้นใช้งานตั๋วในช่วงเวลากลางคืนก่อนเที่ยงคืน คืนนั้นก็จะนับว่าเป็นวันแรก และเช้าวันรุ่งขึ้นก็จะเป็นวันที่สองของการใช้งาน
ข้อควรระวัง2: ข้อมูลต่างๆที่ระบุไว้บนตั๋วจะแตกต่างกันไปตามจำนวนโซนและจำนวนวันที่เราเลือก นอกจากนี้ผู้ซื้อจำเป็นต้องกรอกข้อมูลส่วนตัวลงไปในตั๋วด้วยปากกา ได้แก่ นามสกุล (NOM) ชื่อจริง (Prénom) วันเริ่มต้นการใช้งาน (du) วันสุดท้ายการใช้งาน (au)
- บัตรรายสัปดาห์และบัตรรายเดือน Navigo card
(อ้างอิง https://www.alliancy.fr/ratp-le-ticket-dematerialise-arrive-seulement-sur-android)
คงไม่ใช่สำหรับนักเรียนที่มาใหม่ทุกคนที่สามารถหาที่พักใกล้กับสถานศึกษาและเดินไป-กลับระหว่างที่พักและสถานศึกษาได้ หากเราคำนวณการเดินทางในแต่ละวัน เราจำเป็นต้องเดินทางอย่างน้อยวันละ 2 ครั้งเพื่อออกจากบ้านไปสถานศึกษาและกลับมาบ้าน การซื้อตั๋วเที่ยวเดียวในราคาที่ถูกที่สุดแบบตั๋วชุดก็ยังมีค่าใช้จ่ายสูง คงจะเป็นการดีกว่าหากเราเลือกใช้บัตรโดยสารประเภทรายสัปดาห์หรือรายเดือนเพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางลงไปได้
บัตร Navigo หรือ Navigo Découverte คือบัตรโดยสารที่สามารถใช้ได้ไม่จำกัดจำนวนครั้งและสามารถใช้ได้กับทุกประเภทของรถโดยสาร โดยมีราคาค่าบัตรเปล่าราคา 5 ยูโรต่อบัตรหนึ่งใบและสามารถซื้อเวลาในการเดินทางได้ 2 ช่วงเวลาคือ ซื้อการเดินทางแบบรายสัปดาห์และแบบรายเดือน ปัจจุบันเราสามารถเติมเงินในบัตรจากมือถือผ่าน Application Vianavigo ข้อจำกัดคือใช้ได้กับโทรศัพท์มือถือประเภท Android 6.0 ซึ่งต้องพ่วงระบบเทคโนโลยีไร้สาย (NCF) ผ่านเครือข่ายโทรศัพท์ Orange และ Sosh (ข้อมูลเดือนตุลาคมปีพ.ศ. 2563)
4.1 บัตร Navigo แบบรายสัปดาห์ ราคาอยู่ที่ 22.8 ยูโร (ไม่รวมค่าบัตร 5 ยูโร) เราสามารถเดินทางได้ทั้ง 5 โซนของกรุงปารีส (Navigo รายสัปดาห์ ยังมีแบบที่แยกขายเฉพาะโซน 2-3 3-4 หรือ 4-5 และมีราคาถูกลงกว่าราคาที่กล่าวไปก่อนหน้าเล็กน้อย แต่จะไม่สามารถเดินทางเข้าสู่ใจกลางเมืองปารีสซึ่งเป็นโซน 1 ได้ เนื่องจากโซนที่ซื้อไม่ได้ครอบคลุมโซน 1 นั่นเอง) แม้ว่าจะเป็นบัตรรายสัปดาห์ แต่การนับเวลาจะเริ่มต้นที่ 00:00:01 น.ของวันจันทร์ และจะหมดอายุตอน 23:59:59 น.ของคืนวันอาทิตย์ เช่น หากซื้อบัตร Navigo แบบรายสัปดาห์ในวันอังคาร เวลา 9:00 น. บัตรใบนั้นก็จะยังคงใช้ได้ถึงแค่ 23:59:59 น. ของคืนวันอาทิตย์ ไม่สามารถใช้ได้ถึง 8:59 น.ของวันอังคารถัดไปอย่างที่มักเข้าใจผิดกัน บัตร navigo รายสัปดาห์สามารถซื้อได้ถึงแค่เที่ยงคืนของวันพฤหัสในแต่ละสัปดาห์เพื่อเริ่มต้นใช้งานในสัปดาห์เดียวกัน การซื้อบัตร Navigo รายสัปดาห์ในเช้าวันศุกร์บัตรดังกล่าวจะเริ่มต้นใช้งานได้วันจันทร์ถัดไป
4.2 บัตร Navigo แบบรายเดือน มีราคาอยู่ที่ 75.2 ยูโร (ไม่รวมค่าบัตร 5 ยูโร) สามารถเดินทางได้ทั้ง 5 โซนของปารีสเช่นกัน วันเริ่มต้นการใช้งานคือวันที่ 1 ของแต่ละเดือนและหมดอายุในวันสุดท้ายของเดือนนั้นๆ บัตร Navigo แบบรายเดือนจะสามารถซื้อได้ตั้งแต่วันที่ 20 ของเดือนก่อนหน้าเพื่อใช้งานในเดือนถัดไป
การซื้อบัตร Navigo สามารถซื้อได้ 2 วิธี วิธีแรกคือการติดต่อขอซื้อในสถานีเมโทร รถไฟ RER และรถไฟ Transilien ผู้ใช้บริการต้องเตรียมรูปถ่ายหน้าตรง 1 รูป ขนาดประมาณ 3 ซม. X 2.5 ซม. วิธีที่สองคือการสั่งซื้อผ่านเว็บไซต์ http://www.navigo.fr/ เราสามารถอัปโหลดรูปถ่ายหน้าตรง จ่ายเงินด้วยบัตรเครดิต และสั่งให้บัตรมาส่งตามที่อยู่ของเราได้ด้วยตนเอง
- บัตรรายปี Imagine’R และ Navigo annuel
หากนักเรียน นักศึกษาที่ได้อ่านมาถึงตรงนี้แล้วมีแผนที่จะต้องอาศัยอยู่ในปารีสเป็นเวลานาน เช่นจนกว่าจะสำเร็จการศึกษา บัตรประเภทบัตรโดยสารประเภทรายปีเป็นอีกหนึ่งทางเลือกหนึ่งเพื่อช่วยลดค่าใช้จ่าย
5.1 บัตร Imagine’R เป็นบัตรโดยสารไม่จำกัดจำนวนครั้งประเภทรายปี ที่ให้บริการแก่นักศึกษาอายุต่ำกว่า 26 ปี ราคาต่อปีอยู่ที่ 342 ยูโร + ค่าดำเนินการ 8 ยูโร (นับว่าราคาถูกกว่าบัตร Navigo แบบรายเดือนกว่า 50%) และสามารถเลือกชำระเงินได้สองแบบคือ จ่ายงวดเดียวเต็มจำนวน หรือ แบ่งชำระรายเดือนทั้งหมด 9 งวด (เดือนละ 38 ยูโร)
บัตร Imagine’R นั้นสามารถใช้เดินทางได้ทุกโซนในกรุงปารีส (1 ถึง 5) และสามารถเดินทางได้ในทั่วแคว้น Île-de-France ในวันหยุดสุดสัปดาห์ วันหยุดราชการ และวันหยุดพักร้อน นอกจากนี้ ผู้ถือบัตร Imagine’R ยังได้รับส่วนลดจากร้านค้าและบริการต่างๆ ที่ร่วมรายการ อาทิ ส่วนลดค่าตั๋วสำหรับโรงภาพยนตร์ในเครือ Les Cinémas Gaumont Pathé
การสมัครบัตร Imagine’R สามารถทำได้โดยการขอใบสมัครจากเคาน์เตอร์ภายในสถานีเมโทรทุกแห่ง จากนั้นกรอกรายละเอียด แล้วส่งทางไปรษณีย์ให้กับ Imagine’R พิจารณา หรือสมัครทางออนไลน์ที่ www.imagine-r.com ด้วยทั้งสองวิธี เราจะได้รับบัตร Imagine’R กลับมาทางไปรษณีย์ และสามารถเลือกช่วงเวลาการเริ่มต้นใช้งานบัตรได้หลากหลาย โดยสามารถเริ่มใช้งานในวันที่ 1 ของเดือนกันยายน ตุลาคม พฤษศจิกายน ธันวาคม หรือ มกราคม บัตรจะมีอายุการใช้งานเป็นเวลา 12 เดือนนับตั้งแต่วันที่เริ่มต้นใช้งาน
คุณสมบัติผู้ที่สามารถสมัครบัตร Imagine’R
- อาศัยอยู่ในแคว้น Île-de-France
- มีสถานะนักเรียนและมีอายุต่ำกว่า 26 ปี
- มีหลักฐานการลงทะเบียนเรียนในสถานศึกษาที่ได้รับการยอมรับจากรัฐบาลฝรั่งเศส
- ไม่มีสัญญาจ้างงาน
เอกสารที่จำเป็นต้องใช้
- รูปถ่ายหน้าตรง 1 ใบ
- หลักฐานการลงทะเบียนเรียนกับสถานศึกษา
- รายละเอียดบัญชีธนาคารฝรั่งเศส RIB
5.2 บัตร Navigo Annuel เป็นบัตรโดยสารสำหรับผู้ที่มีอายุมากกว่า 26 ปี และไม่สามารถสมัครบัตร Imagine’R ได้ บัตร Navigo Annuel คือบัตรประเภทเดียวกับ Navigo แบบรายเดือนที่ได้กล่าวไปแล้วก่อนหน้านี้ หากแต่ว่า บัตร Navigo Annuel จะเป็นการสมัครสมาชิก 12 เดือน โดยมีราคาอยู่ที่ 827.20 ยูโร หรือเท่ากับราคาของบัตร Navigo รายเดือน 11 เดือน เท่ากับจ่าย 11 เดือน ฟรี 1 เดือนในเดือนสุดท้าย (ไม่รวมค่าดำเนินการ 7.6 ยูโร) การจ่ายเงินสามารถแบ่งจ่ายทั้งหมด 11 เดือนโดยเดือนแรกจะรวมค่าดำเนินการด้วยอีก 7.6 ยูโร
ข้อดีที่สำหรับของบัตร Navigo Annuel ก็คือ โดยปกติแล้ว หากเราทำบัตร Navigo หายและไม่ได้ลงทะเบียนบัตรไว้ เราจำเป็นจะต้องซื้อบัตรใบใหม่มูลค่า 5 ยูโรและเสียเงินค่าสมัครรายสัปดาห์/รายเดือนใหม่ทั้งหมด แต่การลงทะเบียนกับ Navigo Annuel เราสามารถขอทำบัตรใบใหม่ได้โดยไม่ต้องเสียค่ารายปีอีกครั้ง และไม่เสียค่าใช้จ่ายสำหรับการออกบัตรใบใหม่ (จำกัดการสูญหายได้ 2 ครั้ง)
- ตารางสรุปเปรียบเทียบบัตรโดยสารแต่ละประเภท