การเปิดบัญชีธนาคารในฝรั่งเศส

การเปิดบัญชีธนาคารในฝรั่งเศส

การเปิดบัญชีธนาคารในฝรั่งเศส

โดย นายมารุตพงศ์ ภู่อ่ำ
(Faculty of Science, Sorbonne University)
นางสาว รุจีลักษณ์ สีลาเขต
(Faculty of Arts, Sorbonne University)

  • บัญชีธนาคารนั้นมีความสำคัญมาก เพราะต้องใช้เลขบัญชีในการทำธุรกรรมแทบจะทุกประเภท เช่น ชำระค่าเทอม เปิดหมายเลขโทรศัพท์มือถือ ฯลฯ
  • ต้องทำการนัดหมายก่อน เริ่มจากการไปติดต่อโดยตรงยังธนาคารสาขาที่ใกล้มหาวิทยาลัยมากที่สุด
  • ควรเตรียมเอกสารหลักฐานให้พร้อมเพื่อใช้ในการเปิดบัญชีธนาคาร
  • ในฝรั่งเศสจะใช้เพียงบัตรเดียว เป็นทั้งบัตรเดบิตและเครดิต และบัตรรุ่นใหม่มักเป็น contactless card
  • ในฝรั่งเศสไม่มีสมุดบัญชีเงินฝากเป็นเล่มแล้ว แต่เป็นแบบ virtual ต้องเช็คยอดเงินคงเหลือแบบออนไลน์
  • ควรสั่งสมุดเช็คเพื่อใช้ในการชำระค่าเทอม เพราะบางมหาวิทยาลัยไม่รับเงินสดและบัตรเครดิต
  • มีทั้งบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ตามปกติและบัญชีเงินฝากออมทรัพย์สำหรับเยาวชน ซึ่งประเภทหลังมีอัตราดอกเบี้ยเงินฝากสูงกว่า

ถัดจากการเอากระเป๋าเข้าไปเก็บในหอพัก การเปิดบัญชีธนาคาร อาจเป็นสิ่งแรกที่นักศึกษาต่างชาติต้องรีบทำเมื่อเดินทางมาถึงฝรั่งเศส ด้วยความที่ว่าบัญชีธนาคารนั้นมีความสำคัญ และยึดโยงอยู่กับการทำธุรกรรมหลายอย่าง เช่น การจ่ายค่าหอพัก การเปิดหมายเลขโทรศัพท์มือถือ การทำประกันสุขภาพและที่พักอาศัย ข่องทางการรับทุนการศึกษาจากต้นสังกัด(ในกรณีนักเรียนทุนรัฐบาลไทยและฝรั่งเศส) นอกจากนี้หลังจากเปิดบัญชีแล้ว เจ้าของบัญชีจะได้รับบัตร ซึ่งในฝรั่งเศสจะใช้บัตรเดบิตและบัตรเครดิตในใบเดียว สามารถใช้กดเงินสดจากตู้ ATM ได้ (มีค่าเป็นบัตรเดบิต) และจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าและบริการตามร้านอาหาร หรือร้านสะดวกซื้อได้ (มีค่าเป็นบัตรเครดิต) (ในฝรั่งเศส สนับสนุนการเป็น cashless society หมายถึง ในหลายร้านลูกค้าไม่จำเป็นต้องพกเงินสดติดตัวเป็นจำนวนมาก ร้านซูเปอร์มาร์เก็ตใหญ่ๆจำนวนมากยินดีให้จ่ายค่าบริการด้วยบัตรเครดิต เมื่อราคาสินค้าตั้งแต่ 1 ยูโรขึ้นไป ร้านซักผ้าหยอดเหรียญก็สามารถจ่ายบัตรเครดิตได้เช่นกัน อย่างไรก็ตามมีกรณียกเว้นเช่น ในร้านอาหารและร้านอื่นๆราคาขั้นต่ำจะประมาณ 10-15 ยูโร บางร้านเล็กๆ เช่น ร้านขนมปังแบบดั้งเดิมอาจรับแต่เงินสดเท่านั้น ฯลฯ)

โดยปกติแล้ว ในละแวกของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งมักจะมีธนาคารหลักๆของประเทศฝรั่งเศสอยู่ อย่างเช่น BNP Paribas, Société Générale, LCL เป็นต้น โดยธนาคารเหล่านี้มักจะมีบริการ และโปรโมชั่นพิเศษ สำหรับนักศึกษาโดยเฉพาะ เช่น หากเปิดบัญชีแล้ว อาจได้รับเงินติดมาพร้อมกับการเปิดบัญชี 60 ยูโร หรือ ฟรีค่าธรรมเนียมประจำปีสำหรับนักศึกษาเป็นต้น และโดยทั่วไปพนักงานประจำธนาคารในละแวกมหาวิทยาลัยก็จะสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ 

โดยปกติหลังจากติดต่อธนาคารแล้ว นักเรียนจะมีบัญชีในนามตนเองอยู่ประมาณ 2-3 บัญชีด้วยกัน แบ่งเป็น 

  • compte de chèque หรือบัญชีหลักของผู้ใช้ เทียบได้กับ บัญชีเงินฝากกระแสรายวันหรือบัญชีเดินสะพัด (current account) มีความคล่องตัวสูง เป็นบัญชีที่สามารถเบิกถอนและสั่งจ่ายเช็คให้กับผู้อื่นได้ ธนาคารจะไม่ให้ดอกเบี้ยสำหรับเงินฝากในบัญชีนี้ และจะคิดดอกเบี้ยเมื่อเจ้าของบัญชีเบิกเกินบัญชี
  • Livret A  เทียบได้กับ บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ หรือ Saving deposit account เป็นบัญชีเงินฝากซึ่งธนาคารจะกำหนดเงินออมขั้นต่ำเอาไว้และให้ดอกเบี้ยเงินฝากตามอัตราที่ต่างกันออกไปในแต่ละธนาคาร
  • Livret jeune บัญชีเงินฝากออมทรัพย์สำหรับเยาวชน สำหรับผู้ที่มีอายุระหว่าง 12-25 ปีเท่านั้น โดยทางธนาคารจะกำหนดเงินฝากขั้นต่ำเพียง 10 ยูโรและให้ดอกเบี้ยเงินฝากสูงกว่าบัญชีเงินฝากประเภทอื่น นักเรียนที่มีอายุในช่วงอายุดังกล่าวจึงควรเปิดบัญชีนี้ควบคู่ไปกับ Livret A 
  • อย่างไรก็ตาม ทางกฎหมายฝรั่งเศสอนุญาติให้ทุกคนมีบัญชี Livret jeune เพียงบัญชีเดียวเท่านั้น ไม่ว่าจะมีบัญชีเงินฝากในธนาคารเดียวหรือหลายธนาคารพร้อมกัน 
  • กฎหมายฝรั่งเศสอนุญาติให้สามารถมีบัญชี Livret jeune โดยไม่จำเป็นต้องมี  Livret A ได้ 
  • เมื่อเจ้าของบัญชีอายุครบ 25 ปี ภายในวันที่ 31 ธันวาคมของปีนั้น ทางธนาคารจะแจ้งปิดบัญชี  Livret jeune ตามกฎหมายและจะทำการโอนเงินฝากทั้งหมดจากบัญชี Livret jeune ไปยังบัญชี Livret A และโทรศัพท์มาขอความยินยอมจากเจ้าของบัญชี

การเปิดบัญชีธนาคาร

การเปิดบัญชีธนาคารในประเทศฝรั่งเศสอาจต้องมีการทำการนัดล่วงหน้าก่อน ซึ่งสามารถติดต่อได้กับเคาน์เตอร์ต้อนรับของธนาคารได้โดยตรง ซึ่งการมีบัญชีธนาคารเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้อยู่อาศัยในประเทศฝรั่งเศส และธนาคารไม่มีสิทธิ์ปฏิเสธการเปิดบัญชีธนาคาร ซึ่งหากนักศึกษามีปัญหาในการเปิดบัญชี หรือนัดเปิดบัญชี ทางการฝรั่งเศสมีเว็บไซต์ที่ช่วยให้สามารถนัดกับธนาคารออนไลน์ได้ และบังคับให้ธนาคารเปิดบัญชีให้ได้ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
https://particuliers.banque-france.fr/votre-banque-et-vous/droit-au-compte/jai-besoin-dun-compte-bancaire (แต่แนะนำว่าให้ลองไปติดต่อขอนัดกับทางธนาคารก่อน ซึ่งโดยปกติแล้วจะไม่มีปัญหาใดใด) 

เอกสารที่ต้องเตรียมไปสำหรับเปิดบัญชี

  1. Passport
  2. เอกสารยืนยันที่อยู่
    (อาจใช้ใบเสร็จชำระค่าพักอาศัย หรือค่าน้ำค่าไฟ แต่หากยังไม่มี ธนาคารมักเสนอให้ทำประกันบ้านกับธนาคาร โดยจะให้เราแจ้งที่อยู๋กับธนาคารและธนาคารจะออกเอกสารประกันบ้านให้ และสามารถใช้เอกสารนั้นเป็นเอกสารยืนยันที่อยู่ได้ โดยค่าประกันบ้านจะต้องจ่ายประมาณ 40-50 ยูโรต่อปี)
  3. เอกสารยืนยันการลงทะเบียนเรียน หรือบัตรนักเรียน หรือเอกสารรับรองทุนการศึกษา

หลังจากเปิดบัญชีธนาคารเรียบร้อยแล้ว เจ้าของบัญชีจะได้รับเอกสารที่เรียกว่า RIB (Relevé d’Identité Bancaire) ซึ่งจะระบุรายละเอียดทั้งหมดของบัญชี เข่น เลขบัญชี เป็นต้น โดยเอกสารนี้มักจะถูกขอจากผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ อินเตอร์เน็ต บัตรรถไฟฟ้ารายเดือน หรือบริการต่างๆที่เราไปสมัครสมาชิกและต้องจ่ายค่าสมาชิกรายเดือน เช่น ฟิตเนส เป็นต้น ซึ่งเมื่อทางผู้ให้บริการได้รับตัวเลขนี้แล้ว จะสามารถหักค่าบริการรายเดือนโดยตรงจากบัญชีธนาคารได้อัตโนมัติทุกเดือน เอกสารนี้จึงเป็นเหมือนสมุดบัญชีที่บอกรายละเอียดต่างๆของบัญชีเราไว้ (ประเทศฝรั่งเศสไม่ใช้สมุดบัญชีแบบเล่มแล้ว การเช็คยอดเงินคงเหลือ จึงต้องเช็คผ่านการเข้าบัญชีออนไลน์ ผ่านแอพพลิเคชั่นของธนาคาร หรือเช็คผ่านตู้ ATM ของธนาคารที่เรามีบัญชีเท่านั้น)

ภาพจาก https://www.lesclesdelabanque.com/web/cdb/Particuliers/Content.nsf/DocumentsByIDWeb/6W9LSR?OpenDocument

สำเนา RIB สามารถปรินท์สำเนาเพิ่มเติมได้เองโดยดาวน์โหลดได้จากคอลัมน์เอกสารส่วนตัว ในบัญชีธนาคารออนไลน์ หรือสั่งปรินท์จากแอพลิเคชั่นมือถือของแต่ละธนาคารที่ใช้บริการ หรือจากตู้ ATM ในบางธนาคาร

เมื่อทำการเปิดบัญชีธนาคารแล้ว เจ้าของบัญชีสามารถขอสมุดเช็ค (chéquier หรือ chequebook/checkbook) กับทางธนาคารได้ โดยทางธนาคารจะส่งสมุดเช็คมาให้ที่บ้าน หรือเจ้าของบัญชีอาจไปรับที่ธนาคารสาขาที่เปิดบัญชีได้ภายใน 15 วัน สำหรับนักศึกษาการจ่ายค่าเทอมด้วย chèque ธนาคารนั้นมีความสะดวก และรวดเร็วมาก อีกทั้งปลอดภัย และมหาวิทยาลัยเกือบทุกแห่ง มักรับการจ่ายค่าเทอมด้วย chèque

อย่างไรก็ตาม เมื่อทำการเปิดบัญชี นักเรียนควรตกลงและสอบถามเจ้าหน้าที่ธนาคารให้ละเอียดถึงวงเงิน (plafond) ในการถอนเงินสดจากตู้ ATM (ต่อวัน/ต่อสัปดาห์) และวงเงินในการถอนเงินโดยรวมต่อสัปดาห์/ต่อเดือน (เช่น การโอนเงิน และการสั่งจ่ายเช็ค) โดยปกติเจ้าหน้าที่จะประเมินวงเงินจากรายได้และสถานะของลูกค้าเป็นสำคัญ ในกรณีที่ต้องจ่ายเงินจำนวนมากที่เกินวงเงินปกติ เช่น การจ่ายค่าเช่าบ้านและค่าเทอมในเวลาไล่เลี่ยกัน การซื้อตั๋วเครื่องบินโดยสาร ฯลฯ จะไม่สามารถทำธุรกรรมได้ หากไม่โทรศัพท์ไปยังเจ้าหน้าที่ธนาคารหรือใช้แอพลิเคชั่นในมือถือเพื่อกำหนดวงเงินใหม่ให้สูงขึ้นโดยชั่วคราวก่อน

สำหรับบัตร ATM เจ้าของบัญชีจะยังไม่ได้รับในวันที่ทำการเปิดบัญชี ต้องรอประมาณ 10 -14 วันจึงจะได้รับบัตร ATM ซึ่งขั้นตอนการรับบัตร ATM มีดังนี้

  1. ประมาณ 7 วัน หลังจากเปิดบัญชี เจ้าของบัญชีจะได้รับจดหมายมาที่บ้าน ซึ่งจะระบุรหัส ATM ไว้ (บางธนาคารจะส่งเป็น SMS และเจ้าของบัญชีต้องจำรหัสให้ได้ เพราะข้อความจะลบตัวเองภายใน 48 ชั่วโมง)
  2. ประมาณ 10 วัน เจ้าของบัญชีจะได้รับจดหมายอีกฉบับหนึ่งมาที่บ้าน เพื่อแจ้งว่าบัตร ATM ได้ถูกส่งมาที่ธนาคารสาขาที่ทำการเปิดบัญชีแล้ว สามารถเอาจดหมายฉบับนี้ แสดงพร้อม Passport เพื่อไปขอรับบัตร ATM ได้เลย
  3. นอกจากนี้อาจมีจดหมายที่ระบุเลขบัญชี และรหัส สำหรับใช้ใน Online banking มาอีกฉบับหนึ่ง

สำหรับบัตร ATM หรือบัตรเดบิตนั้น โดยปกติแล้วหากเป็นนักศึกษาอาจไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมรายปีหรืออาจฟรีสำหรับปีแรก โดยบัตรเดบิตที่หน้าบัตรมีสัญลักษณ์ Visa สามารถใช้รูดซื้อสินค้าจากร้านสะดวกซื้อ หรือร้านอาหารต่างๆได้ (บางร้านอาจต้องมียอดขั้นต่ำหากจะจ่ายด้วยบัตรเดบิต) โดยบางบัตรอาจมีฟังก์ชั่นพิเศษ โดยสามารถเอาไปแตะที่เครื่องรูดบัตรก็สามารถจ่ายเงินได้เลย (Paiement sans contact หรือ contactless payment) โดยที่ไม่ต้องกดรหัส (อาจจำกัดวงเงินที่ 20 – 30 ยูโร)   

Share this post