ระบบการศึกษาฝรั่งเศส (ระดับอุดมศึกษา)
ระบบการศึกษาฝรั่งเศส (ระดับอุดมศึกษา)
การศึกษาในระดับอุดมศึกษา
ที่มา : http://oeaparis.free.fr/newoeaparis/?p=854
เมื่อพูดถึงการศึกษาระดับอุดมศึกษาในยุโรป เรามักจะนึกถึง Bologna Process หากเปรียบว่า ข้อตกลง Schengen นำไปสู่การเปิดพรมแดนให้ประชากรยุโรปเดินทางเข้าออก ตั้งถิ่นฐาน ประกอบอาชีพได้โดยไร้พรมแดนในกลุ่มประชาคม ข้อตกลง Bologna ก็มีหลักการเดียวกัน คือนำไปสู่การเปิดพรมแดนการศึกษา ให้นักศึกษาสามารถย้ายไปศึกษาในประเทศอื่นๆในประชาคม จึงจำเป็นที่จะต้องมีโครงสร้างระบบการศึกษาเดียวกัน มีระบบหน่วยกิตเดียวกันที่เอื้อต่อการโอนย้ายหน่วยกิต แบ่งภาคการศึกษาเหมือนกัน โดยแบ่งระดับการศึกษาออกเป็น ปริญญา ตรี – โท – เอก ดังนี้
ปริญญาตรี (Licence) หลักสูตร 3 ปี หรือที่ฝรั่งเศสเรียกว่า ระดับ Bac + 3 เนื่องจากใช้เวลาศึกษา 3 ปี
หลังระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย มีหน่วยกิต 180 หน่วยกิต ตลอดหลักสูตร 6 ภาคการศึกษา
ปริญญาโท (Master) หลักสูตร 2 ปี หรือที่ฝรั่งเศสเรียกว่า ระดับ Bac + 5 เนื่องจากใช้เวลาศึกษา 5 ปี
หลังมัธยมศึกษาตอนปลาย มีหน่วยกิต 120 หน่วยกิต ตลอดหลักสูตร
ปริญญาเอก (Doctorat) หลักสูตร 3 ปี หรือที่ฝรั่งเศสเรียกว่า ระดับ Bac + 8 เนื่องจากใช้เวลาศึกษา 8 ปีหลังมัธยมศึกษาตอนปลาย
อย่างไรก็ตาม การเข้าสู่ Bologna Process มิได้หมายความว่าจะต้องทิ้งรูปแบบการศึกษาที่เป็นแบบเฉพาะของตน ฝรั่งเศสยังคงรักษารูปแบบการศึกษาแบบเดิมไว้บางส่วนด้วย แต่ปรับให้เชื่อมต่อเข้ากับระบบ Bac + 3/ Bac +5 และ Bac +8 ได้อย่างเข้าใจง่าย เช่น การศึกษาระดับประกาศนียบัตร Bac + 2 ในสถาบันเทคโนโลยีอุดมศึกษา (Institut Universitaire de Tecnhologie) หรือ การศึกษาใน Grandes Ecoles ซึ่งจะอธิบายในหัวข้อ Grandes Ecoles ต่อไป
ลักษณะเฉพาะตัวของระบบการศึกษาฝรั่งเศส
การศึกษาระดับอุดมศึกษาในฝรั่งเศส มี ดังนี้ โดยได้แสดงภาพการศึกษาระดับอุดมศึกษาต่างๆ ในตารางหน้าถัดไป*
- การเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษา มีทั้งการสอบคัดเลือก ซึ่งได้แก่การเข้า Grandes Ecoles และ การคัดเลือกจากใบสมัคร ซึ่งได้แก่การเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัย ทั้งนี้ ในบางสาขาวิชาที่เปิดสอนในมหาวิทยาลัยก็อาจมีการสอบคัดเลือก
- การสอบคัดเลือกให้เข้าศึกษาระหว่างหลักสูตร มีในระดับ Bac+1/ Bac +2 หรือสูงกว่านั้น แต่จำนวนสถานศึกษาที่เปิดรับ สำหรับผู้ที่เข้าในระดับ Bac +3 มีน้อยมาก
- หลักสูตรอุดมศึกษาที่ใช้เวลาศึกษา 2 ปี (Bac + 2) มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตนักศึกษาให้เข้าสู่ตลาดแรงงานได้ทันทีที่สำเร็จการศึกษา แต่ก็เปิดทางให้สามารถศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นได้ เช่น ผู้ที่สำเร็จการศึกษาได้รับวุฒิบัตร Diplôme Universitaire de Technologie – DUT หรือ Brevet de Technicien Supérieur – BTS สามารถสมัครเข้าศึกษาต่อเพิ่มอีก 1 ปี เพื่อรับปริญญาตรีได้
- การเรียนหลักสูตรเตรียมอุดมศึกษาเฉพาะทางชั้นสูง (Classe Préparatoire aux Grandes Ecoles – CPGE) เป็นหลักสูตร 2 ปี เพื่อสอบเข้าศึกษาต่อใน Grandes Ecoles นั้น ไม่มีวุฒิบัตรรองรับ หากเรียนไปแล้ว 2 ปี แต่สอบเข้าไม่ได้ ก็สามารถเทียบหน่วยกิตและโอนย้ายไปศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย โดยสมัครเข้าศึกษาในปีที่ 3 เพื่อรับปริญญาตรีได้
- วุฒิบัตรวิชาชีพชั้นสูงบางสาขาวิชา ต้องใช้เวลาศึกษาเพิ่มจากปริญญาปรกติ เช่น หลักสูตรสถาปัตยกรรม หากศึกษาจบระดับ Bac + 5 ได้รับปริญญาโทสาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์ และหากศึกษาต่ออีก 1 ปี ก็จะได้รับวุฒิบัตรที่สามารถควบคุมงานได้ตามกฎหมาย เป็นต้น
- ถึงแม้ว่าโครงสร้างหลักของระบบการศึกษา คือ Bac+3/ Bac+5/ Bac+8 อย่างไรก็ตามวุฒิบัตรสำเร็จการศึกษาระดับ Bac +2/ Bac + 4/ Bac +6 อาทิเช่น การศึกษาสายศิลปกรรม สายบริการสุขภาพ ก็ยังคงมีอยู่
- การศึกษาต่อในระดับปริญญาโทในประเทศฝรั่งเศส จำเป็นอย่างยิ่งที่นักเรียนจะต้องสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีในสาขาที่เกี่ยวข้อง ตัวอย่างเช่น ผู้ที่จบปริญญาตรีสาขาอักษรศาสตร์ จะไม่มีโอกาสได้รับการตอบรับให้เข้าศึกษาต่อในสาขาการบริหารจัดการ ซึ่งสามารถกระทำได้ ในประเทศไทยหรือสหรัฐอเมริกา
ตารางแสดงหลักสูตรการศึกษาในระดับอุดมศึกษา
* ที่มา Campus France
ปีที่ | ระดับ | หลักสูตรมหาวิทยาลัย | หลักสูตรGrandes Ecoles | หลักสูตรโรงเรียนศิลปะ/โรงเรียน สถาปัตฯ และ วิชาชีพอื่นๆ |
ปีที่ 9 | ปริญญาแพทย์ศาสตร์ | |||
ปีที่ 8 | ปริญญาเอก | DOCTORAT ปริญญาเอก | ||
ปีที่ 7 | ||||
ปีที่ 6 | ปริญญาเภสัชศาสตร์/ ทันตแพทย์ศาสตร์ | ปริญญาวิชาชีพสถาปัตยกรรม | ||
ปีที่ 5 | ปริญญาโท | MASTER 2 ปริญญาโท | ปริญญาวิชาชีพวิศวกรรม/ บริหารธุรกิจ/ | ปริญญาสถาปัตยกรรมศิลปกรรม |
ปีที่ 4 | MASTER 1 | ปริญญาสัตวแพทย์ศาสตร์ | ||
ปีที่ 3 | ปริญญาตรี | LICENCE ปริญญาตรี และLicence Pro ปริญญาตรีสายอาชีพ | วุฒิบัตรด้านศิลปะวุฒิบัตรด้านสถาปัตยกรรม | |
ปีที่ 2 | อนุปริญญา หรือ ปวส. | Diplôme Universitaire de Technologie – DUT สอนใน IUT | เตรียมอุดมศึกษาเฉพาะทางชั้นสูง CPGE | วุฒิบัตรด้านศิลปะวุฒิบัตรสายวิชาชีพ BTS |
ปีที่ 1 | ||||
Baccalauréat (เทียบเท่า ม.6) |
I กระบวนการสมัครเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษา
การศึกษาต่อระดับปริญญาตรี และระดับ Bac + 2 วุฒิประกาศนียบัตรมัธยมศึกษาตอนปลายของประเทศไทย เปิดสิทธิ์ให้นักเรียนสามารถสมัครเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาในฝรั่งเศสได้
*หมายเหตุ อยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไขข้อมูล เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงกระบวนการรับสมัครเข้าศึกษาสำหรับปีการศึกษา 2561-2562
การสมัครศึกษาต่อระดับปริญญาโท
การศึกษาปริญญาตรีในประเทศไทยเป็นหลักสูตร 4 ปี ในขณะที่การศึกษาระดับปริญญาตรีในฝรั่งเศส Licence เป็นการศึกษาระดับ Bac +3 การเทียบวุฒิการศึกษาเพื่อการศึกษาต่อจึงไม่สามารถการกำหนดตายตัวได้ และไม่มีองค์กรกลางที่ทำหน้าที่เทียบวุฒิการศึกษาเพื่อการศึกษาต่อ การพิจารณารับนักเรียนให้เข้าศึกษาในระดับใดนั้น ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแต่ละสถาบัน ซึ่งจะพิจารณาจากระเบียนการศึกษา ประสบการณ์ทำงาน รวมทั้งศักยภาพในการศึกษา ดังนั้น ผู้ที่สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีในประเทศไทย อาจได้รับให้เข้าศึกษาในระดับปริญญาโทปีที่ 2 (Master 2) ได้โดยไม่ต้องผ่านชั้น Master 1 ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพื้นฐานวิชาที่ได้ศึกษามาแล้วในระดับปริญญาตรีว่าตรงกับหลักสูตรที่สมัครมากน้อยเพียงใด อาทิเช่น ในสาขากฎหมาย และในทางกลับกันอาจได้รับการตอบรับให้เข้าศึกษาในระดับปริญญาตรีปีสุดท้าย (Licence 3) ได้ หากมหาวิทยาลัยพิจารณาเห็นว่าวิชาที่เรียนมาในระดับปริญญาตรียังไม่เพียงพอต่อการเข้าไปศึกษาในระดับปริญญาโท
กระบวนการสมัครส่วนใหญ่ กระทำผ่านการคัดเลือกจากใบสมัคร ผู้สมัครต้องส่งใบสมัครถึงหน่วยงานหรือผู้รับผิดชอบหลักสูตรที่ตนสนใจสมัคร ระยะเวลาเปิดรับสมัครเริ่มประมาณกลางเดือนมีนาคม หรือ ต้นเดือนเมษายนเป็นต้นไป สถาบันส่วนใหญ่ไม่เรียกเก็บค่าใบสมัคร ค่าใบสมัครแตกต่างกันไปตามแต่สถาบัน โดยปัจจุบันอยู่ประมาณ 30 – 140 (กรณีมีการสอบเข้า) ยูโร ผู้สมัครควรมีความรู้ภาษาฝรั่งเศสระดับ B2 เป็นอย่างน้อย ปัจจุบัน มีหลักสูตรที่เปิดสอนเป็นภาษาอังกฤษเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในสายวิทยาศาสตร์
การศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก
กระบวนการสมัครเริ่มโดยการติดต่ออาจารย์ที่มีผลงานในสายงานเดียวกับหัวข้อที่นักศึกษาสนใจ หรือ ติดต่อไปที่บัณฑิตวิทยาลัยปริญญาเอก (Ecole Doctorale) ซึ่งจะแจกจ่ายหัวข้อวิทยานิพนธ์ไปยังหัวหน้าคณะวิจัยที่ทำงานเกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้ ระยะเวลารับสมัครเริ่มประมาณเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นเวลาที่ผลการสอบปริญญาโทออกมาแล้ว ในกรณีที่อาจารย์ที่ปรึกษาเห็นว่าผู้สมัครยังมีพื้นความรู้ไม่พอเพียงกับการทำวิจัย อาจตอบรับโดยมีเงื่อนไขให้ศึกษาระดับปริญญาโทก่อนได้ ในทางกลับกัน กรณีที่นักศึกษามีโครงการมาศึกษาปริญญา โท – เอก และในปีแรกได้รับเข้าศึกษาระดับปริญญาโท หากอาจารย์ที่ปรึกษาเห็นว่ามีศักยภาพเพียงพอ ก็อาจให้เลื่อนขึ้นไปศึกษาในชั้นปริญญาเอกได้ในปีการศึกษานั้น
II การศึกษาในสาขารัฐศาสตร์ แพทยศาสตร์ และ ศิลปะ ในที่นี้ จะขอกล่าวถึง 3 สาขานี้เท่านั้น เนื่องจากเป็นสาขาที่นักเรียนไทยให้ความสนใจและมีรูปแบบการเปิดรับนักศึกษาค่อนข้างแตกต่างจากคณะอื่นๆ
1 การศึกษาสาขารัฐศาสตร์ สถาบันที่เปิดสอนสาขาวิชานี้มี 2 ประเภท คือ
– สถาบันรัฐศาสตร์ (Institut d’Etudes Politiques)
– มหาวิทยาลัย ในคณะรัฐศาสตร์ หรือ กฎหมาย
สถาบันรัฐศาสตร์ (Institut d’Etudes Politiques – IEP) เป็นสถาบันที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการสอนวิชาการเมืองการปกครองโดยเฉพาะ ในปี 2557 มีสถาบัน IEP ทั่วประเทศ จำนวน 10 แห่ง IEP ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือ IEP กรุงปารีส หรือ ที่นิยมเรียกกันว่า Sciences Po Paris เป็นสถาบันที่มีความเป็นเลิศทางวิชาการ การสอบแข่งขันเข้าศึกษาในชั้นปีที่ 1 สำหรับผู้จบมัธยมศึกษาตอนปลาย จัดว่าเป็นสนามสอบหนึ่งในบรรดาการสอบเข้าที่ยากที่สุด นักเรียนต่างชาติสามารถสอบเข้าได้ 2 ทาง คือ สนามสอบทั่วไปเหมือนกับนักเรียนชาวฝรั่งเศส และสถาบัน IEP บางแห่งเปิดรับนักเรียนต่างชาติแยกต่างหากโดยการคัดเลือกจากใบสมัครและสอบสัมภาษณ์ หลักสูตร IEP ใช้ระยะเวลาศึกษา 5 ปี โดยแบ่งเป็น 2 ระดับ คือ ปีที่ 1-3 ศึกษาวิชาพื้นฐานทั่วไป และ ปีที่ 4-5 ศึกษาวิชาเน้นหนัก ผู้ที่จบปริญญาตรี หรือ Bac +3 จากมหาวิทยาลัย สามารถสมัครเข้าศึกษาต่อในชั้นปีที่ 4 ได้
มหาวิทยาลัย หลักสูตรปริญญาตรีคณะรัฐศาสตร์ หรือ กฎหมาย แต่เดิมนั้น การศึกษาสาขารัฐศาสตร์เป็นภาควิชาหนึ่งในคณะกฎหมาย ซึ่งนักเรียนจะเลือกศึกษาเน้นหนักได้ในชั้นปริญญาตรีปีที่ 3 ในปัจจุบันเริ่มมีการเปิดสอนสาขานี้ตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 ในมหาวิทยาลัยบางแห่งในฝรั่งเศส อาทิเช่น มหาวิทยาลัยปารีส 1 ปารีส 2 ปารีส 8 มหาวิทยาลัย Lyon มหาวิทยาลัย Amiens เป็นต้น การสมัครเข้าศึกษาสาขานี้ในมหาวิทยาลัยไม่มีการสอบแข่งขันเหมือนกับการสมัครเข้า IEP แต่เป็นการคัดเลือกจากใบสมัครและในบางมหาวิทยาลัยมีการทดสอบภาษาอังกฤษ
2 การศึกษาสาขาแพทยศาสตร์
การศึกษาสาขาแพทยศาสตร์ เปิดสอนในมหาวิทยาลัยร่วมกับโรงพยาบาลชั้นนำ (Centres Hospitaliers Universitaires) นักศึกษาต่างชาตินอกประชาคมยุโรปไม่สามารถเข้าศึกษาได้ในชั้นปีใดก็ตามระหว่างหลักสูตร หากเป็นนักศึกษาแพทย์ในประเทศไทยและยังไม่สำเร็จการศึกษา ต้องการศึกษาต่อสาขาแพทยศาสตร์ในฝรั่งเศส จะต้องสมัครเข้าศึกษาชั้นปีที่ 1 เหมือนผู้สมัครที่สำเร็จมัธยมศึกษาตอนปลายคนอื่นๆ และเมื่อสอบผ่านสิ้นปีที่ 1 จึงจะสามารถขอศึกษาต่อในชั้นที่เทียบเท่าชั้นที่ได้เคยศึกษาในประเทศไทย
ในกรณีที่สำเร็จมัธยมศึกษาตอนปลายและผ่านกระบวนการสมัคร DAP ได้รับเข้าชั้นปีที่ 1 หากสอบภาคที่ 1 ไม่ผ่าน จะต้องย้ายไปเรียนสาขาอื่นในภาคที่ 2
ผู้ที่สำเร็จปริญญาแพทยศาสตร์บัณฑิต แพทย์ทั่วไปจากประเทศไทย สามารถสมัครเข้าศึกษาสาขาเชี่ยวชาญเฉพาะทางได้ โดยจำนวนที่เปิดรับแต่ละสาขาเฉพาะทางจะกำหนดโดยกฎกระทรวงแต่ละปี การจัดสอบกระทำโดยสถานทูตฝรั่งเศสในไตรมาสแรกของปี
3 การศึกษาสาขาศิลปะ
ฝรั่งเศสได้รับการยกย่องว่าเป็นประเทศแห่งศิลปะ และมีสถาบันสอนศิลปะทั้งในภาครัฐและเอกชนที่หลากหลาย อาทิเช่น ภาพถ่าย ภาพยนตร์ การแสดง ดนตรี จิตรกรรม ปฏิมากรรม ตบแต่ง กราฟฟิค ออกแบบ ฯลฯ ความแตกต่างระหว่างการศึกษาศิลปะในมหาวิทยาลัยและในสถาบันศิลปะ ( Ecole d’Art) อยู่ตรงที่ในมหาวิทยาลัยเน้นหนักเชิงทฤษฎี และ ให้ความสำคัญกับการศึกษาเชิงประวัติศาสตร์และสุนทรียศาสตร์และเชิงวัฒนธรรม แตกต่างจากการศึกษาในสถาบันศิลปะ ซึ่งสอนให้สร้างสรรค์ผลงาน แม้ว่าในมหาวิทยาลัย ไม่มีการสอบเข้า แต่ความสามารถในการรับนักเรียนเข้าศึกษาสาขานี้มีจำกัด การคัดเลือกดูจากใบสมัครเป็นสำคัญ
การคัดเลือกรับเข้าศึกษาในสถาบันศิลปะเป็นการคัดเลือกที่เข้มข้น บุคคลิกของผู้สมัครมีส่วนสำคัญไม่แพ้ความสามารถทางศิลปะ การสอบสัมภาษณ์เป็นตัวตัดสินที่สำคัญในสาขาศิลปะประยุกต์ ผู้ที่ไม่มีพื้นความรู้ทางด้านศิลปะมาก่อนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ก็สามารถสมัครเข้าศึกษาในสาขานี้ได้ โดยสมัครเข้าศึกษาชั้นเตรียมความพร้อม Mise à niveau en arts appliqués – Manaa ในสายดนตรีและนาฏยศิลป์ ต้องผ่านการทดสอบการแสดง
นอกจากนี้ ฝรั่งเศสมีชื่อเสียงในด้านผู้นำแฟชั่น เป็นต้นกำเนิดของห้องเสื้อชั้นสูง จึงมีนักศึกษาต่างชาติให้ความสนใจที่จะมาศึกษาสาขานี้มาก การศึกษาด้านการออกแบบแฟชั่นเป็นการศึกษาสายวิชาชีพ มีเปิดสอนในหลักสูตร BTS (เทียบเท่า ปวส.) และ สามารถศึกษาต่อในหลักสูตรปริญญาตรีวิชาชีพ (Licence Pro) ในมหาวิทยาลัย หรือ ในสถาบันศิลปะออกแบบเช่น Ecole Nationale Supérieure des Arts Décoratifs และได้รับปริญญาบัตรเทียบเท่าปริญญาโท อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเป็นการสอนสายวิชาชีพ หากผู้สนใจมิได้ยึดติดกับปริญญาบัตรที่ได้รับการรับรองโดยรัฐ แต่ต้องการได้ความรู้ทางปฏิบัติเพื่อการประกอบอาชีพสามารถเข้าศึกษาในสถาบันเอกชนที่มีประสบการณ์ในด้านนี้ อาทิเช่น L’Ecole de la Chambre Syndicale de la Couture Parisienne ซึ่งก่อตั้งโดยสมาคมผู้ประกอบวิชาชีพช่างตัดเสื้อ หรือ Studio Berçot เป็นต้น
III ค่าเล่าเรียนในสถาบันอุดมศึกษา
ค่าเล่าเรียนในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐกำหนดโดยกฎกระทรวงแต่ละปี โดยมีอัตราเท่ากันทั่วประเทศ แตกต่างตามระดับการศึกษา เรียกเก็บเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าประมาณ 2-3 ยูโร โดยในปี 2557 -58 เรียกเก็บ ดังนี้
ระดับ ปริญญา ตรี 184 ยูโร
ระดับ ปริญญา โท 256 ยูโร
ระดับ ปริญญา เอก 391 ยูโร
ค่าเล่าเรียนใน Grandes Ecoles จะสูงกว่าในมหาวิทยาลัยและแตกต่างกันไป อาทิ สถาบันศิลปะชั้นสูง อยู่ที่ประมาณ 490 ยูโร ในขณะที่สถาบันวิศวกรรมอยู่ที่ประมาณ 600 ยูโร สำหรับ สถาบันเฉพาะด้านอื่นๆ ค่าเล่าเรียนจะสูงกว่า โดยเฉพาะในสถาบันบริหารธุรกิจ (Ecole de Commerce et de Gestion) อยู่ที่ 3 000 – 10 000 ยูโร/ปี
นักศึกษาต่างชาติจ่ายค่าเล่าเรียนในอัตราเดียวกับนักศึกษาฝรั่งเศส ซึ่งเมื่อเทียบกับประเทศสหรัฐอเมริกา หรือ อังกฤษ จะเห็นว่าค่าเล่าเรียนที่นักศึกษาจ่ายเป็นจำนวนต่ำมาก แต่มิได้หมายความว่าการศึกษาในฝรั่งเศสมีต้นทุนต่ำและด้อยคุณภาพ ทั้งนี้ เนื่องจากรัฐรับภาระค่าใช้จ่ายต้นทุนในการศึกษาโดยเฉลี่ยประมาณ 10 000 ยูโร/นักศึกษา เพื่อให้ทุกคนมีสิทธิ์เท่าเทียมกันในโอกาสทางการศึกษาตามปรัชญาอุดมการณ์ของสาธารณัฐฝรั่งเศส
Leave a Reply